วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557




รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และความเชื่อว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลในการเมืองไทย
ในวันที่ 20 พฤษภาคม ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้
หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว
หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย
กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) (อังกฤษ: Peace and Order Maintaining Command (POMC)) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งตามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 2/2557 หลังจากการประกาศกฎอัยการศึก ตั้งกองบัญชาการที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

มาตรการเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารประเทศหลังรัฐประหารครั้งนี้เน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวัตถุประสงค์หลัก คสช. เริ่มให้ ธ.ก.ส. นำเงินสภาพคล่อง 40,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าว 92,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และยังเร่งรัดจัดทำงบประมาณปี 2558
วันที่ 28 พฤษภาคม พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ขอเวลา 2 สัปดาห์ทบทวนโครงการลงทุนตามแผนแม่บทกระทรวงคมนาคม 2 ล้านล้านบาท
วันที่ 12 มิถุนายน จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาท มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์รถไฟ ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถนน ทางน้ำและทางอากาศ โดยเพิ่มแผนแม่บทโครงการทางอากาศจากแผนแม่บท 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถใช้เงินลงทุนของตัวเอง
ผลกระทบ
จุดผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านบางจุดยังคงปิดหลังรัฐประหาร
วันที่ 27 พฤษภาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแถลงว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศลดลงร้อยละ 20
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน สมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกเปิดเผยว่านับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นมา ยอดจองตั๋วเครื่องบินโดยสารมายังประเทศไทยตกลงไปเฉลี่ยวันละกว่า 5,000 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่นิยมจองตั๋วล่วงหน้าระยะสั้น เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาเดินทางมายังประเทศไทยว่าจะต่ำสุดในรอบ 5 ปี หลังจากปีที่แล้วมีชาวต่างชาติมาเยือนประเทศไทยถึง 26.3 ล้านคน
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และตลาดหลักทรัพย์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่หกติดต่อกัน สะท้อนว่าสาธารณะและนักลงทุนไทยรู้สึกกับท่าทีของกองทัพในเชิงบวก นอกจากนี้ เงินบาทยังแข็งค่าขึ้น 0.5% แต่บริษัทวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ชี้ว่า ผลนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในระยะสั้น
เอเชียเซนตินัล รายงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนว่า กลุ่มสิทธิไทยปประเมินว่า ยังมีผู้ถูกคุมขังอยู่ราว 200 คนนับแต่เกิดรัฐประหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น